จากบริเวณที่อุดมไปด้วยบ่อน้ำร้อนธรรมชาติใต้ผิวดินมาสู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในปัจจุบัน อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวตรังและนักท่องเที่ยวทั่วไปเป็นอย่างดี โดยได้รับการจัดตั้งให้เป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 สภาพทั่วไป วนอุทยานฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหวาง ป่าควนแคง และป่าน้ำราบ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาผสมผสานกับสภาพป่าเป็นดงดิบชื้น และบางส่วนเป็นป่าพรุที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี อีกทั้งมีพื้นที่บางส่วนเป็นพรุน้ำร้อนมีน้ำไหลผุดจากใต้ดินตลอดเวลา พืชพรรณและสัตว์ป่า จัดว่าค่อนข้างมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ปานกลาง โดยพันธุ์ไม้ที่พบได้ แก่ ยาง ตะเคียน หว้า ชมพู่ป่า ทุ้งฟ้า ก่อ แดงควน กระโดน ตังหน หวาย หลุมพี ปาล์ม กล้วยไม้ และสัตว์ป่าที่พบได้แก่ ชะมด ค้างแว่นถิ่นใต้ กระจง ไก่ป่า นกชนิดต่าง ๆ เต่า กบ เขียด งู สถานที่น่าสนใจ ได้แก่ บ่อน้ำร้อนควนแคง บริเวณพื้นที่พรุน้ำร้อน โดยได้พัฒนาปรับปรุงเป็นบ่อน้ำร้อน จำนวน 3 บ่อ มีอุณหภูมิของน้ำประมาณ 70 องศา / 40 องศา / 20 องศา ตามลำดับ ซึ่งนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปนิยมมาแช่เท้าและอาบน้ำร้อนเพื่อสุขภาพ ณ ที่แห่งนี้ โดยมีห้องอาบน้ำแล ห้องแช่น้ำร้อนให้บริการเพื่อความเป็นส่วนตัว จำนวน 9 ห้อง บ่อแช่เท้ารวม 1 บ่อ และบ่ออาบน้ำรวมอีก 1 บ่อ เส้นทางศึกษาธรรมชาติบริเวณพื้นที่พรุน้ำร้อนและพื้นที่ป่าดงดิบ ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติจำนวน 3 เส้นทาง ในระยะทาง 500 เมตร 750 เมตร และ 2,000 เมตร ตามลำดับ เพื่อยังประโยชน์ด้านการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งส่งเสริมสันทนาการและการท่องเที่ยว