
ฮือฮา มทร.ศรีวิชัย ตรัง ต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน เปิดตัวสปาโคลนบ่อน้ำพุร้อน ผลวิจัยชี้ชัดได้สัมผัสแร่ธาตุดีต่อสุขภาพ 8 ชนิด หนุนสร้างรายได้ให้ชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งแรกใน จ.ตรัง
24 เม.ย.2565 – ที่บ่อน้ำพุร้อนเค็ม ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ชาวบ้านและนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เปิดตัวสปาโคลนชุมชน “Preopening Community Spa” ซึ่งได้นำโคลนจากบ่อน้ำพุร้อนเค็มที่อยู่ในป่าโกงกางมานานนับ 100 ปี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์แห่งเดียวใน จ.ตรัง มาทำการวิจัยถึง 3 ครั้ง จนพบว่าโคลนที่ได้จากบ่อน้ำพุร้อนเค็มในตำบลบ่อหิน ปราศจากสารเคมีแต่มีแร่ธาตุและสารต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพถึง 8 ชนิด เป็นการหนุนความเชื่อของชาวบ้านในอดีตที่มีการนำโคลนมาพอกหน้าพอกตัว เพราะเชื่อว่าโคลนจะทำให้ผิวเนียน นุ่ม และขาวสดใส
ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย และโรคเหน็บชาได้ โดยเฉพาะการพอกโคลนตามชายหาดหรือในบ่อน้ำพุร้อน ความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นที่มาของงานวิจัย จึงได้ทดสอบกับโคลนจากบ่อน้ำพุร้อนเค็มและประสบความสำเร็จ ทำให้คณะวิจัยฯ สามารถยกระดับโคลนชุมชนขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยได้นำโคลนจากบ่อน้ำพุร้อนเค็ม มาทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยรวม 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โคลนขัดผิว ครีมนวดสปาโคลน เจลอาบน้ำโคลนและสบู่ก้อนโคลน โดยคณะผู้วิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับ นวัตกรชาวบ้านจำนวน 10 ราย เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืนให้กับชุมชน ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ฝั่งอันดามัน

ทั้งนี้คณะวิจัยได้ส่งครีมอาบน้ำโคลนไปขอ อย. เป็นผลิตภัณฑ์แรก แต่ผลิตภัณฑ์โคลนที่ได้ทั้ง 4 ชนิดยังไม่มีขายให้กับนักท่องเที่ยว แต่หากใครสนใจสามารถมานวดตัว และสปาเท้าได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ่อหินฟาร์มสเตย์ ต.บ่อหิน ในราคาคนละ 300-400 บาท เพื่อสร้างงานสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังมาแรง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนินทร์ สังขดวง หัวหน้าโครงการวิจัย มทร.ราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรังกล่าวว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความเชื่อของนักท่องและชาวบ้านว่า การไปเที่ยวที่บ่อน้ำพุเค็มร้อนแล้ว ก็จะมีการเอาโคลนมาพอกแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น แต่เป็นความเชื่อ ซึ่งด้วยงานวิจัย ต้องการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งความเชื่อกับความจริงบางทีมันสวนทางกัน เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านคิดดีกับสุขภาพจริงหรือไม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนินทร์ ระบุว่า สำหรับครั้งแรกที่ได้เริ่มต้นทำการวิจัย ได้รับโจทย์จากท่านรองอภิรักษ์ สงรักษ์ เลยมาดูว่าถ้าเชื่ออย่างนั้น เราขอเอาโคลนไปทดสอบก่อนว่า โคลนนี้มีโลหะที่เป็นอันตรายหรือไม่ เลยส่งตรวจหาโลหะ 4 ชนิด เช่นตะกั่ว แคสเมียม หรืออะไรก็ตาม ปรากฏว่ามาตรฐานของโคลนที่นี่ผ่านหมดเลย ไม่มีธาตุโลหะหนักทั้ง 4 ชนิดที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะก่อนหน้านี้เท่าที่คุยกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คุยกับ ม.อ และหน่วยงานที่ส่งตรวจ บอกไม่ต้องส่งมาเพราะโอกาสผ่านมันน้อยมาก แต่พอส่งไปปรากฎว่าผ่าน ซึ่งผลวิจัยชี้ชัดว่าโคลนที่นี่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งตนเองในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย จึงให้อาจารย์ทีมแพทย์แผนไทย ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยคิดมาได้ 3-4 ชนิด เป็นสบู่โคลน เจลอาบน้ำโคลน สปาโคลนและครีมขัดผิวโคลน ซึ่งถ้าเป็นการนวดเท้าหรือสปาโคลนคิดค่าบริการคนละ 300 บาท แต่ถ้านวดตัวคิดคนละ 400 บาท ซึ่งสปาที่นี่จะไม่เหมือนนวดที่อื่น เพราะเรามุ่งเน้นสปาโดยใช้ผลิตภัณฑ์โคลน เพราะดีกับสุขภาพผิวของเรา.
