“ทอท.” เปิดแผนลงทุนแสนล้าน พลิกโฉมสนามบิน รับท่องเที่ยว-การบินฟื้น ปีนี้เปิดประมูลอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ดอนเมือง ผุดหลุมจอด อาคารจังก์ชั่น ฝ่าแรงต้าน “สุวรรณภูมิ เฟส 2” ทุ่มสร้างเทอร์มินอลใหม่ด้านเหนือ ขยายปีกอาคารหลังเดิมด้านตะวันออก-ตะวันตก รองรับผู้โดยสารในประเทศและอินเตอร์ เบรกอาคารด้านทิศใต้ รื้อรถไฟฟ้า APM ผุดสถานีไฮสปีดแทน ชง ครม.เคาะแผนใหม่กลางปี’64 กรมท่าฯทุ่ม 4.3 พันล้านยกเครื่องสนามบินขอนแก่น ตรัง บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 ทอท.เตรียมจะลงทุนพัฒนาสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิเป็นสนามบินหลักของประเทศ วงเงินรวม 99,120 ล้านบาท เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและธุรกิจการบินจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2567
ขณะนี้รอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อนุมัติแผนการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 42,200 ล้านบาท จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตร.ม. สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคน/ปี ซึ่งเน้นผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก
กลางปีชง ครม.ดอนเมือง เฟส 3
“คาดว่าสภาพัฒน์จะนำเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) ของสภาพัฒน์พิจารณาปลายเดือน เม.ย.ถึงต้นเดือนพ.ค. 2564 นี้”
นายกีรติกล่าวอีกว่า ทอท.จะเดินหน้าโครงการคู่ขนานกับการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งอยู่ระหว่างคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการปรับปรุงรายงานเพิ่มเติมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 หาก คชก.และบอร์ดสภาพัฒน์เห็นชอบจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในช่วงกลางเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 นี้
เร่งสร้างให้เสร็จปี’67
ส่วนแผนงานอื่น ๆ ของการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 มีอีก 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มหลุมจอดเครื่องบิน 12 หลุมจอดทางด้านเหนือ วงเงิน 2,200 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบโครงการเสร็จแล้วอยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ในเดือน มิ.ย. 2564 นี้
และ 2.โครงการอาคาร JUNCTION BUILDING พื้นที่ร้านค้าและร้านอาหาร และงานก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ช่วงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ถึงที่จอดรถด้านใต้ วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท จะเปิดประมูลรูปแบบ PPP net cost แต่ระยะเวลาของสัญญายังไม่สรุประหว่าง 10 ปี หรือ 15 ปี
เสร็จพร้อมรับธุรกิจการบินฟื้นตัว
“น่าจะได้ข้อสรุปเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นก็ออกทีโออาร์ประมูลคาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะในช่วงปลายปีนี้เซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างต้นปี 2565”
โดย ทอท.จะเร่งรัดงานก่อสร้างให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จในปี 2568-2569 เป็นภายในปี 2567 เพื่อให้รองรับกับการกลับมาของธุรกิจการบินที่ซบเซาจากภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งประเมินว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี หรือในปี 2567 ธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ
ดัน North-East-West
นายกีรติกล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 หลังจากที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการป้องกันทุจริตโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ในส่วนโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (north expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 41,260 ล้านบาทแล้วเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564
“จริง ๆ เรื่องนี้คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบความคิดเห็นเพิ่มเติมของ ป.ป.ช.ตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้ว แต่เมื่อ ครม.เห็นชอบต้องเสนอให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาอีกครั้ง”
ปัจจุบันการเดินหน้าลงทุนจะผลักดันทั้ง north expansion ไปพร้อมกับส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านตะวันออกและตะวันตก (east & west expansion) แต่การก่อสร้างอาจจะเริ่มไม่พร้อมกัน แต่จะผลักดันให้เกิดในเวลาไล่ ๆ กัน
ปั้น North รับ Domestic
“เราต้องให้ north expansion เกิดก่อน เพราะต้องดึง domestic ไปอยู่ที่นั่น ตามมาด้วย east expansion เพราะเราจะดึงผู้โดยสารที่มาก่อนเวลาไปเช็กอินที่นั่น ส่วน west expansion จะมาหลังสุดเผื่อทั้ง north และ east expansion รับผู้โดยสารไม่พอ หากทั้ง 3 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 120 ล้านคน/ปี” นายกีรติกล่าวและว่า
ตัด APM ลดงบฯลงทุน 30%
สำหรับแผนงานการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิที่วางไว้เมื่อทั้ง 3 โครงการแล้วเสร็จ จะกำหนดให้ north expansion ไว้รองรับผู้โดยสารในประเทศ เมื่อปรับแผนบริหารใหม่จะทำให้ต้นทุนของโครงการลดลง 30% จาก 42,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 28,000-29,000 กว่าล้านบาท
โดยตัดเนื้องานรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ออก เพราะในอนาคตหากขับรถมาจากมอเตอร์เวย์จะทำทางเชื่อมรอไว้ระยะทาง 1 กม.แทน เพื่อเบี่ยงซ้ายเข้า north expansion ทันที และจะมีอาคารจอดรถขนาด 3,000 คันไว้รองรับ
“ทำให้การรับส่งผู้โดยสารจะสามารถจอดรับส่งได้ไม่ติดขัด และปริมาณจราจรที่เคยติดขัดจะหายไปกว่าครึ่ง ส่วนผู้โดยสารที่จะไปอาคารผู้โดยสารหลังเดิม ที่ในอนาคตจะปรับให้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ผู้โดยสารก็สามารถขับรถตรงเข้ามาอีกนิดเดียวก็ถึงแล้ว”
เพิ่มจุดเช็กอินล่วงหน้า
ส่วนปัญหาของอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน จะพบผู้โดยสารมารอเที่ยวบินก่อนเวลาเป็นจำนวนมาก ตามปกติแล้วผู้โดยสารจะต้องมารอขึ้นเครื่องก่อนเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ปัญหาคือ มีผู้โดยสารจำนวนมากมารอขึ้นเครื่องเร็วกว่า 3 ชั่วโมง บางคนมารอตั้งแต่ 4-5 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง ทำให้พื้นที่ภายในเกิดความแออัด
จึงมีแผนที่จะทำเคาน์เตอร์เช็กอินล่วงหน้า (early check-in) ที่ east expansion เมื่อผู้โดยสารไม่ว่าจะมาแบบส่วนตัวหรือกรุ๊ปทัวร์ เมื่อมาถึงจะให้เช็กอินแล้วเข้าไปรอด้านในได้ทันทีไม่ต้องรออยู่ภายในอาคารผู้โดยสาร รวมถึงอาจจะเพิ่มจุดตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในส่วนนี้ด้วย
ชี้ South Expansion ลงทุนสูง
ส่วนข้อเสนอของ ป.ป.ช.ที่ให้ทำอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (south expansion) นั้น นายกีรติระบุว่า เป็นแผนแม่บทเดิมซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้เหมือนโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนจะมาเป็น M-MAP อย่างทุกวันนี้ก็ปรับปรุงมาจากแผนแม่บทรถไฟฟ้าในอดีตทั้งนั้น
นอกจากนี้ ต้นทุนของ south expansion มีการประเมินไว้คร่าว ๆ อาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 116,000 ล้านบาท ซึ่งศักยภาพจะรับผู้โดยสารเกิน 120 ล้านคน/ปีได้หรือไม่ เนื่องจากรันเวย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีเพียง 4 เส้น แต่วงเงินลงทุน north-east-west expansion รวมกันใช้วงเงินลงทุนเพียง 44,000 ล้านบาทเท่านั้นหลังตัดรถไฟฟ้า APM ออก
จ่อผุด 1 สถานีไฮสปีด
นอกจากเหตุผลด้านต้นทุนแล้ว หากมองภาพใหญ่ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ในอนาคตสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องรองรับระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งแนวเส้นทางจะมาทาง north expansion แล้วจะลดระยะลอดใต้ดินที่อาคารผู้โดยสารปัจจุบัน
โดยช่วงที่ยังยกระดับมีบางส่วนจะอยู่หน้า north expansion พอดี ซึ่ง ทอท.มีแผนจะเสนอขอลงทุนก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงบริเวณหน้า north expansion อีกจุดหนึ่งเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง north expansion และอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท
“ทอท.มีเงินลงทุนเองอยู่แล้ว เมื่อก่อสร้างสถานีดังกล่าวแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุน APM อีก โดยอยู่ระหว่างหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย”
ชง ครม.เคาะแผนใหม่ ก.ค.นี้
นายกีรติกล่าวอีกว่า ส่วนไทม์ไลน์ของโครงการหลังจากขอความเห็นร่วมกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) แล้ว จะขอความเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการที่ปรึกษาท่าอากาศยาน (ACC) อีกแห่งหนึ่ง
คาดว่าปลายเดือน เม.ย.นี้น่าจะจบ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการชุดรองนายกอนุทินพิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะส่งกลับไปที่บอร์ดสภาพัฒน์พิจารณาและเสนอ ครม.ได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้
ถม 4.3 พันล้านสนามบินภูธร
ด้านแหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 มีแผนจะลงทุนทั้งสิ้น 6 โครงการ มูลค่ารวม 4,312 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเปิดประมูล คาดว่าจะได้ตัวเอกชนภายในเดือน พ.ค. และเริ่มก่อสร้างในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564
ประกอบด้วย 1.ขยายลานจอดเครื่องบิน สนามบินขอนแก่น เพิ่มศักยภาพรองรับเครื่องบิน ขนาด B737 จากเดิม 5 ลำ เป็น 11 ลำ วงเงิน 500 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2566
2.ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ สนามบินตรัง เพื่อต่อเติมความยาวทางวิ่งจากเดิม 45×2,100 เมตร เป็น 45×2,990 เมตร วงเงิน 1,800 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2567
3.ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับและลานจอดเครื่องบินขนส่งสินค้าและอาคารคลังสินค้า พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน สนามบินบุรีรัมย์ เพื่อต่อเติมความยาวทางวิ่ง จากเดิม 45×2,100 เมตร เป็น 45×2,900 เมตร วงเงิน 950 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2566
4.ก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินสุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัย และรองรับจำนวนเที่ยวบินต่อชั่วโมงได้เพิ่มมากขึ้น วงเงิน 800 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2566
5.ก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ สนามบินสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นศูนย์การขนส่งสำหรับการเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศสู่การขนส่งรูปแบบอื่น ๆ เช่น รถสาธารณะ รถแท็กซี่ อย่างไร้รอยต่อ วงเงิน 131 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2565
และ 6.ก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ สนามบินอุบลราชธานี เพื่อเป็นศูนย์การขนส่งสำหรับการเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศสู่การขนส่งรูปแบบอื่น ๆ เช่น รถสาธารณะ รถแท็กซี่ อย่างไร้รอยต่อ วงเงิน 131 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี แล้วเสร็จในปี 2565