เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ตรัง – พาไปย้อนรอย “27 ปี ประติมากรรมมัมมี่เมืองตรัง” ที่เคยโด่งดังไปทั่วประเทศ กับ 3 ชีวิตพ่อแม่ลูกในตระกูล “หนูเมือง” ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว กับตำนานความเชื่อ ความศรัทธา ที่ยังคงมีผู้คนถามไถ่มาจนถึงทุกวันนี้
นายประเสริฐ แสงศรีจันทร์ อดีตสมาชิกสภา อบต.หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปย้อนรอย “27 ปี ประติมากรรมมัมมี่เมืองตรัง” ซึ่งเคยตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ ณ บริเวณภายในสวนปาล์มน้ำมัน ที่มีเนื้อที่กว่า 14 ไร่ ในหมู่ที่ 1 บ้านห้วยต่อ ตำบลไม้ฝาด หรืออยู่ใกล้กับคลองอ่างทอง อันเป็นสถานที่ตั้งของศาลากตัญญู ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 8.0 เมตร โดยภายในมีประติมากรรมของบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้ว 3 ชีวิต ในตระกูล “หนูเมือง” ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ อันประกอบไปด้วย นายเวียง หนูเมือง, นางเอื้อน หนูเมือง และนายชำนาญ หนูเมือง
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2539 นายเวียง หนูเมือง ผู้เป็นพ่อ ได้เสียชีวิตลง แต่ด้วยความอาลัยของลูกๆ โดยเฉพาะ นายชำนาญ ลูกชายคนโต และ นายพิพัฒน์ ลูกชายคนที่ 6 ของครอบครัว จึงช่วยกันสร้างประติมากรรมห่อหุ้มศพผู้เป็นพ่อ ที่มีหน้าตาและขนาดเท่าตัวคนจริง เหมือนกับมัมมี่ของชาวอียิปต์ เพื่อเก็บรักษาร่างให้อยู่กับครอบครัวตลอดไป ด้วยการนำร่างของ คุณพ่อเวียง มานั่งขัดสมาธิ แล้วโบกปูนซีเมนต์ทับ จากนั้นนำทองคำเปลวมาห่อหุ้มศพเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ก่อนใช้สีน้ำอะคริลิก สีดำ มาเททับลงไป เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความอับชื้น แล้วนำตู้กระจกใสมาครอบไว้
สำหรับประติมากรรม คุณพ่อเวียง ที่สร้างขึ้นมาจากความกตัญญูของลูกๆ ดังกล่าว เป็นที่โจษขานไปทั่วทั้งหมู่บ้าน เพราะเป็นสิ่งที่แปลกอย่างมากในยุคนั้น และไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย กระทั่งต่อมาเมื่อปี 2548 หรือถัดมาอีก 9 ปี นางเอื้อน หนูเมือง ผู้เป็นแม่ ก็มาเสียชีวิตลงตามไปอีกคน ลูกชายทั้ง 2 คน จึงนำศพของผู้เป็นแม่มาฝังเอาไว้ทางด้านขวาของศาลา ใกล้ร่างของผู้เป็นพ่อ เนื่องจากท่านได้สั่งเสียไว้ก่อนที่จะจากไปว่า ขอนอนตายอยู่ใกล้กับสามี พร้อมนำภาพถ่ายของ คุณแม่เอื้อน และดอกไม้ธูปเทียน มาวางไว้ด้านหน้าหลุมศพ เพื่อทำการกราบไหว้ อันแสดงถึงความเคารพบูชา
จากนั้นในปี 2552 หรือถัดมาแค่ 4 ปี นายชำนาญ หนูเมือง ลูกชายคนโต หนึ่งในนักประติมากรรม ก็มาเสียชีวิตลง นายพิพัฒน์ น้องชาย ซึ่งเป็นนักประติมากรรมคู่กัน ก็ได้ปั้นปูนหล่อพี่ชายขนาดเท่าตัวจริง ในท่านั่งคุกเข่าพนมมือ และสวมใส่ชุดเครื่องแบบกากีเต็มยศ เพราะเขาเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ฝาด มาก่อน โดยนำมาตั้งวางไว้ทางด้านขวาสุดของศาลา และให้ศพของ คุณแม่เอื้อน ผู้เป็นแม่ ตั้งวางอยู่ตรงกลาง แต่กรณีของศพ นายชำนาญ ลูกชายคนโตนั้น ได้ถูกนำไปฌาปนกิจศพ หรือเผาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนนำกระดูกมาบรรจุลงไปในปูนหล่อดังกล่าว
นายประเสริฐ แสงศรีจันทร์ อดีตสมาชิกสภา อบต.หมู่ที่ 1 ตำบลไม้ฝาด เล่าว่า คุณพ่อเวียง หนูเมือง เดิมเป็นชาวอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ย้ายมาอยู่ที่อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นคนดี และขยันขันแข็ง แม้จะมีอาชีพเผาถ่าน แต่ส่งเสียลูกจนได้ดี กระทั่งเมื่อจากไป ลูกๆ จึงนำร่างมาปั้นปูนหล่อไว้ในศาลาข้างบ้าน ซึ่งแรกๆ ชาวบ้านแถวนี้ก็รู้สึกหวาดกลัว ขนาดบางรายต้องย้ายบ้าน และไม่กล้าขี่รถผ่านในยามค่ำคืน แต่นานเข้าก็เป็นความเคยชิน ผู้คนจึงไปมากันตามปกติ แม้ภายหลังจะมีการนำร่างของผู้เป็นแม่ และกระดูกของพี่ชายคนโต มาฝังไว้ในศาลาด้วยก็ตาม
ล่าสุดบ้านที่ คุณพ่อเวียง คุณแม่เอื้อน และ 2 ลูกชายนักปั้น เคยอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว หลังจากที่ทั้ง 4 ชีวิตเสียชีวิตไปทั้งหมด และถูกเปลี่ยนมาเป็นบ่อกุ้งแทน เหลือเพียงศาลากตัญญู อันเป็นที่ตั้งของประติมากรรมมัมมี่เมืองตรังเท่านั้น แต่ที่ดินยังคงเป็นของตระกูล “หนูเมือง” เช่นเดิม และผู้ที่ครอบครองก็เป็นรุ่นหลานแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้คนต่างถิ่นที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่น้ำตกอ่างทอง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน หรือเดินทางมาที่ตำบลไม้ฝาด บางคนก็ยังคงถามไถ่ถึงสถานที่ตั้งของประติมากรรมมัมมี่เมืองตรัง กับตำนานความเชื่อ ความศรัทธา ที่โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้