จ.ตรังยังหาผู้รับสัมปทานรังนกไม่ได้ หวั่นซ้ำรอยพัทลุง ถูกขโมย เหตุไม่มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้า ขณะที่บริษัทสัมปทานเกาะรังนก จ.พัทลุง ปฏิเสธเป็นผู้ลักลอบ ยันไม่ใช่คนของบริษัท เชื่อทำเป็นขบวนการ มืออาชีพ เรียกร้อง ตร.เร่งจับคนร้ายให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น จ.ตรัง โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อร่วมกันหาทางออกและแก้ปัญหากรณีที่ จ.ตรัง ยังหาผู้รับสัมปทานรังนกอีแอ่นไม่ได้
โดย จ.ตรัง แบ่งพื้นที่การจัดเก็บรังนกออกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาจัดเก็บในท้องที่ อ.ปะเหลียน และสัญญาจัดเก็บในท้องที่ อ.กันตัง และ อ.สิเกา โดยเปิดให้มีการยื่นซองประมูลไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง
โดย 3 ครั้งแรก ทางผู้สนใจเสนอให้มีการปรับลดราคากลางลงมาและขยายเวลาการรับสัมปทานออกไปอีก โดยมองว่า จ.ตรัง ตั้งราคากลางไว้สูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับปริมาณรังนกที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทางคณะกรรมการจัดเก็บฯ จึงมีมติขยายเวลาสัมปทานออกไปเป็นสัญญาละ 6 ปี จาก 5 ปี
ล่าสุด ในการประมูลครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ในสัญญาสัมปทาน อ.ปะเหลียน จ.ตรังได้กำหนดราคากลางไว้ จำนวน 24 ล้านบาท พบว่ามีผู้ยื่นซองประมูลทั้งหมด 2 ราย คือ นางสาวพิมลรัตน์ เทศนอก วงเงิน 33 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน และรายที่ 2 บริษัท รังนกตรัง 2564 จำกัด เสนอราคา 26.4 ล้าน
ส่วนสัญญาที่ 2 ท้องที่ อ.กันตัง และ อ.สิเกานั้น จ.ตรังตั้งราคากลางไว้ที่จำนวน 10 ล้านบาท แต่ไม่มีคนเข้ายื่นซองเสนอราคาแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสัญญาท้องที่ อ.ปะเหลียน แม้ว่าจะได้ผู้รับสัมปทานแล้วคือ นางสาวพิมลวัตน์ เทศนอก แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ยังไม่มีการลงนามในสัญญาสัมปทานกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะผู้ให้สัมปทานแต่อย่างใด
นายพิพัฒน์ อมรวัตพงศ ทนายความ บริษัท รังนกตรัง 2564 จำกัด กล่าวว่า ผ่านมาแล้วหลายเดือนแม้จะได้รับผู้สัมปทานเกาะรังนก ท้องที่ อ.ปะเหลียน แต่ทางจ.ตรัง ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาสัมปทานได้ จากการสอบถามทราบว่า อยู่ระหว่างการสอบถามไปยังกรมอุทยานฯ ว่า จะสามารถเข้าไปจัดเก็บรังนกได้หรือไม่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจถึงการทำงานของทางจังหวัดว่าเกิดปัญหาได้อย่างไร ขั้นตอนดังกล่าวควรมีการแก้ปัญหาไปก่อนที่จะเปิดให้มีการประมูลด้วยซ้ำ ประกอบกับที่ผ่านมามีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำได้ยาก และในการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นซองประมูลไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นผู้มีทำธุรกิจด้านการจัดเก็บรังนกมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซาก
โดยครั้งก่อนได้ผู้รับสัมปทานที่เป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม ซึ่งไม่ใช่มืออาชีพในการจัดเก็บรังนก แต่เล็งเห็นผลในการท่องเที่ยวพื้นที่สัมปทานรังนก จนเป็นสาเหตุให้ขัดแย้งกับอุทยานฯ ถูกอุทยานฯ ฟ้องร้องบุกรุก และไม่มีเงินจ่ายค่าอากรรังนก จ.ตรัง จนมีการบอกเลิกสัญญา และฟ้องร้องดำเนินคดีกันในที่สุด ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากเงินอากรดังกล่าวจำนวนมาก ครั้งนี้เช่นกัน ยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเซ็นสัญญาได้หรือไม่ เพราะผู้เสนอราคาสูงสุด ได้รับสัมปทานครั้งนี้ ไม่เคยจัดเก็บรังนกมาก่อน ไม่ใช่มืออาชีพ และจนถึงขณะนี้ผ่านมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้ หากบริษัทแรกที่ชนะการประมูลเซ็นสัญญาไม่ได้ บริษัท รังนกตรัง พร้อมจะเข้าไปดำเนินการ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอราคาสูงเป็นลำดับที่ 2 ส่วนเงินประกันซอง จำนวน 1 ล้านบาท ขณะนี้ทาง จ.ตรัง ยังไม่คืนให้ โดยให้เหตุผลว่า จะต้องมีการเซ็นสัญญาสัมปทานก่อน จึงจะคืนให้ พร้อมระบุไม่มั่นใจว่าขณะนี้เกาะรังนกของ จ.ตรัง จะยังมีรังนกหรือไม่ หรือไม่มีแล้วดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกาะรังนกที่ จ.พัทลุง เพราะไม่มีการเฝ้าพื้นที่ป้องกันการลักลอบเก็บแต่อย่างใด
ทนายความ บริษัท รังนกตรังฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการลักลอบทำลายและจัดเก็บรังนกที่ จ.พัทลุง ซึ่งบริษัทที่ดูแลเป็นผู้ชนะสัมปทาน และมีคนตั้งข้อสังเกตว่าทางบริษัทเป็นผู้จัดฉากขโมยรังนกของตัวเอง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่สมเหตุสมผล เพราะหากเราเป็นคนขโมยเอง นกไม่เยอะ หรือมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการอาศัยของนก นกก็ไม่มาอยู่ ซึ่งทางบริษัทคงไม่ไปประมูล เพราะค่าอากรรังนกมากกว่ารายอื่น การขโมยรังนกไปมีมูลค่า 30-40 ล้าน แต่ยังมีการก่อไฟ สุมไฟ จนนกไม่มาอาศัยและลูกนกก็ตาย ซึ่งครั้งที่แล้วทางบริษัทไม่ยอมเก็บรังนกเพื่อจะอนุรักษ์ไว้ เพราะในเงื่อนไขของสัมปทานระบุชัดว่าห้ามเก็บขณะมีลูกนกและไข่นก เพื่อการอนุรักษ์ และให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย ตัวสัญญาก็ระบุไว้ หากเราไปเก็บแล้วทำพันธุ์นกเสียนั้น บริษัทจะไปประมูลเพื่ออะไร
ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าการขโมยรังนกไม่ใช่ทำง่าย ๆ ไม่เหมือนกับขโมยทั่วไป เพราะรังนกมีปริมาณเกิน 2 ตัน ซึ่งปริมาณมากขนาดนี้ต้องเป็นขโมยมืออาชีพ มีความชำนาญเรื่องเก็บรังนก ซึ่งต้องไล่เรียงไปว่าใครสั่งให้มาเก็บ เก็บได้อย่างไร รังนกที่ได้ไปอยู่กับใครนั่นคือประเด็นสำคัญ แต่จะบอกว่าทางบริษัททำการขโมยเอง แล้วบริษัทจะทำไปทำไม และยืนยันว่าคนขโมยไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท หรือคนที่อยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของบริษัท ซึ่งโดยปกติการจัดเก็บรังนกของบริษัทจะจ้างทีมจัดเก็บรังนกมารับจ้างจัดเก็บปีละ 3 ครั้ง เฉพาะช่วงเวลาเก็บรังนก ซึ่งมาจากทั้งจังหวัดอื่น และจ.พัทลุง เพราะคน จ.พัทลุงมีอาชีพจัดเก็บรังนกมานานแล้ว ซึ่งจะมีความชำนาญ และเข้าในลักษณะภายในถ้ำอย่างดี รวมทั้งรู้แหล่งนกทำรัง
การเข้าไปขโมยรังนกเป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละถ้ำต้องใช้เวลาในการหา หากเป็นชาวบ้านธรรมดาจะขโมยได้ครั้งละ 4-5 รัง แต่การหายไปปริมาณมากเป็นตัน หมายความว่าต้องเป็นขโมยที่มากันหลายคน ใช้เวลาขโมยนาน ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้ที่ผู้ขโมยเป็นทีมจัดเก็บรังนกที่บริษัทเคยว่าจ้างมาจัดเก็บ เพราะดูแล้วมีความเป็นมืออาชีพ เพราะจากการที่เข้าไปดูพื้นที่พบกว่าหัวขโมยใช้ตะกร้อเหล็ก ถึงแม้ว่าบริษัทจะรู้ว่าเป็นใคร แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานเอาผิด แต่หากตัวการใหญ่เป็นคนใหญ่คนโต มองว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเดี๋ยวนี้ทำงานดี ต่อให้คนร้ายเป็นผู้มีอิทธิพลสุดท้ายแล้วก็ถูกจับดำเนินคดี เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคงได้ทำหน้าที่ได้ และคงจะได้ทราบว่าใครเป็นคนบงการ ใครเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหนอย่างน้อยได้ปราบไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก จึงขอให้เจ้าหน้าที่เร่งจับคนร้ายให้ได้โดยเร็ว