‘บ้านท่าข้าม’ ผุดโปรเจ็กต์ ‘ชุมชนนักคิด พิชิตขยะ’
เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนบ้านท่าข้าม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตรัง เขต 1 ได้จัด โครงการการพัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณ ผ่านการบูรณาการความรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชน มี นายระนิต ณ พัทลุง รองผู้อำนวยการ สพป.ตรัง เขต 1 เป็นประธาน นายกเทศบาลตำบลท่าข้าม คณะกรรมการสถานศึกษา คณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม
โรงเรียนบ้านท่าข้าม ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็น 1 ใน 43 โรงเรียนจากทั่วประเทศ ให้ได้รับสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานในหัวข้อ “การพัฒนาทักษะการคิดเชิงคำนวณ ผ่านการบูรณาการความรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชน”
น.ส.กิตติมา มุ่งวัฒนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าข้าม เล่าถึงวัตถุประสงค์โครงการว่า เพื่อพัฒนาทักษะแนวคิดเชิงคำนวณของนักเรียนผ่านบริบทของชุมชน มีการศึกษา และนำเสนอผลการพัฒนาทักษะแนวคิดเชิงคำนวณของนักเรียน ประกอบด้วย 7 ฐานกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมนำเสนอผลการแก้ปัญหาชุมชน ป.1-3 และกิจกรรมนำเสนอผลการแก้ปัญหาชุมชน ป.4-6 กิจกรรมการพัฒนาทักษะความคิด ด้วย Plugged and Unplugged Coding กิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย กิจกรรมการสาธิตการแยกขยะ กิจกรรมธนาคารขยะโรงเรียน และกิจกรรมขยะแปลงร่างเพิ่มมูลค่า
จากข้อเสนอโครงการ โรงเรียนบ้านท่าข้ามได้นำเสนอการแสดงผลงานจากการดำเนินงานในโครงการที่มาในรูป “ชุมชนนักคิด พิชิตขยะ” ตอน “คิด ย่อย แยก แรก ผลิบาน” ซึ่งที่มาของชุมชนนักคิด คือการจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะการคิดแบบมีเหตุผล และเป็นขั้นตอน หรือ Coding ซึ่งจริงๆ แล้วการสอน Coding ในที่นี้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะสอนให้นักเรียนทุกคนเขียนโปรแกรมได้ และไปประกอบอาชีพเป็นนักพัฒนาระบบ หรือที่เราเรียกว่า Programmer แต่ Coding คือการสอน และพัฒนาทักษะกระบวนการคิดของนักเรียนให้วิเคราะห์ปัญหา แยกแยะปัญหา แก้ปัญหา และตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล และเป็นขั้นตอน
โรงเรียนบ้านท่าข้ามจึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาทักษะแนวคิดเชิงคำนวณอย่างต่อเนื่องในทุกระดับชั้น ได้แก่ โครงการ English & Coding at School, การสอน Coding ให้กับนักเรียน ทั้งแบบ Unplugged และแบบ Plugged รวมถึงการอบรมนักเรียนแกนนำด้าน Coding คือนักเรียนชั้น ป.6 เพื่อเป็นแกนนำให้กับน้องๆ ในการทำโครงการ
ต่อมา “พิชิตขยะ” ในขั้นตอนของการสำรวจเพื่อแก้ปัญหาในชุมชน นักเรียนสรุปว่า ขยะคือปัญหาอันดับ 1 ในชุมชนของพวกเขา ดังนั้น ทักษะกระบวนการคิด ย่อย คือ การย่อยปัญหา แยก คือ การแยกปัญหา เป็นประเด็นๆ เพื่อหาทางแก้ และลงมือปฏิบัติ แรก คือ นี้คือโครงการแรก ถือเป็นโครงการปฐมฤกษ์ของโรงเรียนในการเริ่มต้นพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนและ ผลิบาน คือ เราต้องการให้นักเรียนของเรา ผลิบานในแบบที่เป็นตัวของเขาเอง
โครงการนี้เป็นโครงการการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะนำเอางานวิจัยต่างๆ มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ซึ่งได้นำเอางานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ มาใช้โดยเน้นเรื่อง Computational Thinking การจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการนอกห้องเรียน