- Line
“ตรังสแควร์” หรือ จัตุรัสเมืองตรัง ณ หอนาฬิกา กรมโยธาฯทุ่มงบ 30-50 ล้าน “ผู้ว่าฯขจรศักดิ์” ดันเป็น แลนด์มาร์กใหม่ เชื่อมโยงย่านเมืองเก่า สอดรับ “ตรังสมาร์ท ซิตี้” เตรียมรับฟังความเห็นประชาชน
กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดทำการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนการพัฒนาเมือง เพื่อรองรับการเจริญเติบโต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยจะส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจสังคม และการท่องเที่ยว รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
จากบทบาทและความสำคัญของการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาตามผังเมืองรวมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามันดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทำการศึกษาโครงการเพื่อพัฒนาตามผังเมืองรวมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัด โดยได้ว่าจ้างกลุ่ม บริษัท ซิตี้แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด ร่วมกับบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อินเทลแพลน จำกัด ทำการศึกษาตามความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมกลุ่มภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชนให้เป็นมาตรฐาน มีความเป็นระเบียบ สวยงาม ปลอดภัยและเป็นเมืองน่าอยู่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมที่ดียั่งยืนสืบไป
สำหรับจังหวัดตรังได้นำเสนอพื้นที่ ของบพัฒนาฯ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง คือ โครงการก่อสร้าง “ตรังสแควร์” บริเวณหอนาฬิกา ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง, โครงการก่อสร้างสวนสาธารณเทศบาลนครตรัง, โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งคลองน้ำเจ็ด ต.บ้านควน อ.เมืองตรัง และโครงการก่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง สำหรับโครงการตรังแสควร์ เป็นการจัดพื้นที่บนถนนวิเศษกุล ตั้งแต่สี่แยกหอนาฬิกา เชื่อมกับถนนพัทลุง – วงเวียนพะยูน ถนนรื่นรม ถนนพระราม 6 – บรรจบสี่แยกหอนาฬิกา ซึ่งขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจ รวมทั้งออกแบบแปลน แล้ว
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า โครงการตรังสแควร์ หรือ จัตุรัสเมืองตรัง เป็นโครงการที่ต้องการสร้างแลนด์มาร์ก บริเวณหอนาฬิกา เป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดตรัง ที่ใครๆ เดินทางมาตรัง ต้องมาถ่ายรูป เดินชมเมืองเก่า ย่านตลาดรไฟสถานีรถไฟตรัง “ตอนนี้ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษา มาวางแนวทางการออกแบบ มีการลงดูพื้นที่จริง พร้อมกำหนดโครงร่างโครงการตรังแสควร์ บริเวณหอนาฬิกา ถนนวิเศษกุล บรรจบกับ ถนนพัทลุง ถนนรื่นรม บรรจกับหอนาฬิกา ซึ่งมีลักษณะเนื้อที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า” ผู้ว่าฯขจรศักดิ์ กล่าว
กรมโยธาธิการและผังเมือง โดย บริษัทที่ปรึกษา ได้ทำการสำรวจให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้นเมื่อได้โครงร่าง จะนำมาสอบามความคิดเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในเขต เทศบาลนครตรัง ได้แก่ประชาชน ร้านค้า ที่อยู่ในบริเวณ พื้นที่ดังกล่าว ว่าจะมีข้อเสนอแนะประการใดเกี่ยวกับรูปแบบการวางผัง รวมทั้งแนวทางการจัดการ ที่มีทั้งการจัดสวนปลูกต้นไม้ และกิจกรรมที่จะมีการผนวกเข้ากับ “ตรังสมาร์ท ซิตี้” เข้าไปด้วยซึ่งหลังจากการสำรวจเบื้องต้น และการรับฟังความคิดประชาชน จะนำข้อมูลข้อเสนอทั้งหมดไปปรับปรุงเพื่อจะออกแบบครั้งสุดท้าย ให้เสร็จประมาณเดือนมีนาคม 64
ทั้งนี้ มีการจัดรูปแบบโดยรวมของพื้นที่ในบริเวณนี้ ได้แก่ การเอาเกาะกลางออก พื้นถนนตกแต่งเป็นลายผ้าทอนาหมื่นศรี เน้นการใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นตรัง และการจัดบริเวณทางเดินให้เป็นพื้นที่ให้เหมาะกับการเดินออกกำลังกาย รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง รูปแบบขอหอนาฬิกาจะเพิ่มสีสรรค์ด้วยการเสียง และ แสง สี นำแบบไลท์แอนด์ซาวน์ ในแผนที่กำหนดไว้ รูปแบบทั้งหมด การรับฟังความคิดเห็น จนออกมาเป็นแบบ พร.4 พร.5 คาดว่าจะเสร็จในเดือนเมษายน 64 เพื่อให้ทันกับการของบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ในปีงบประมาณ 2565 โดยกรมโยธาฯ ได้ตั้งงบประมาณไว้ ประมาณ 30-50 ล้านบาท เพื่อใช้ทำการก่อสร้างและปรับปรุงโครงการในครั้งนี้ ระยะเวลาโครงการคาดว่าหากตั้งงบประมาณของปี 2565 ได้ น่าจะก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยภายในระยะเวลา 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทที่ปรึกษา ได้นำรูปแบบแบบแปลน ไปปรึกษา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งท่านได้มีความคิดเห็นและข้อแนะนำ เรื่องแนวทางการจัดพื้นที่ จัดพื้นที่แบบไม่มีเกาะกลาง บริเวณถนนวิเศษกุล เพื่อให้มีพื้นที่จัดกิจกรรมที่กว้างขึ้น และให้นำต้นไม้มาปลูกบริเวณสองข้างทาง ซึ่งต้องเป็นต้นไม้ที่โตแล้ว