กยท.เดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำยางสด ชู 4 มาตรการหลักดึงน้ำยางออกจากระบบกว่า 2 แสนตันดันราคาให้สูงขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางจากปัญหาราคาตกต่ำหลังผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดมากช่วงต้นปี และประเทศผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีน สหรัฐฯชะลอการรับสินค้า เนื่องจากวันหยุดยาวช่วงเทศกาล และการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เริ่มนำร่องใน 3 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – เดือนมกราคม 2564 ทำให้ผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดจำนวนมากขึ้น ประกอบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์เข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีด เกษตรกรชาวสวนยางจะเร่งนำผลผลิตมาจำหน่ายในตลาดก่อนที่ผลผลิตจะลดลง ขณะที่ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่หลายประเทศชะลอการรับสินค้าในระยะนี้ เช่น จีนจะหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน หรือสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรปเผชิญปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศต้องหยุดชะงัก ตู้ขนส่งสินค้าตกค้างในประเทศ นำไปสู่ปัญหาขาดตู้ขนส่งสินค้า เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ไม่เพียงเท่านั้น ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ผู้ประกอบการยางเดือดร้อนจากการส่งออก เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราระดับปฐมภูมิเดือดร้อน จากราคาผลผลิตตกต่ำ คุณภาพชีวิตลดลง
นายณกรณ์กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตระหนักถึงปัญหา และความเดือดร้อนของชาวสวนยาง โดยเฉพาะจากปัญหาราคาน้ำยางตกต่ำ จึงจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำยางสดขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อช่วยดึงปริมาณน้ำยางออกจากระบบกว่า 200,000 ตัน ทำให้ราคาขยับสูงขึ้นและมีเสถียรภาพ ในการดำเนินการ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลักคือ 1. ให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางรวบรวมน้ำยางสด โดยการยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนแท้งค์เก็บน้ำยางสด พร้อมสารเคมีสำหรับยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้คงคุณภาพไว้ได้นาน 1-2 เดือน จากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) 2.สนับสนุนเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการเก็บรักษายางพาราไว้ รอขายในช่วงราคาเหมาะสม 3. ลดปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดด้วยการแปรรูป โดยส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ชาวสวนยาง ผลิตยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นคุณภาพดี ตามแนวทาง “นวัตกรรมยางแผ่นดิบสั่งตัด” และ4. ขับเคลื่อนหน่วยธุรกิจ (BU) เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ หาช่องทางขายผลผลิตยางพาราของเกษตรกร
สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำยางสดนั้น เริ่มดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัดคือ จ.นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง ซึ่งจ.นครศรีธรรมราช จะดำเนินการโดยชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางนครศรีธรรมราช จำกัด มีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการฯ 8 สถาบัน ได้แก่ สหกรณ์นิคมทุ่งสง จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาขาว สหกรณ์กองทุนสวนยางห้างส้าน จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางเทพทองพัฒนา จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางเขาน้อย จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางควนเถียะ จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางเขาน้อยฉลองพัฒนา จำกัด