ข่าวภาคค่ำ – คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ตรวจสอบโครงการก่อสร้างศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งใช้งบไปร้อยกว่าล้านบาทแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ประโยชน์ได้ และล่าสุดทางเทศบาลนครตรัง มีแผนสานต่อโครงการ ซึ่งจะต้องใช้วงเงินเพิ่มอีกกว่า 350 ล้านบาท ติดตามรายละเอียดเรื่องนี้กับคุณสุธาทิพย์ ผาสุข
ภาพอาคารร้างที่ท่านผู้ชมเห็นอยู่นี้ คือโครงการก่อสร้างศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ พื้นที่กว่า 11,000 ตารางเมตร ในเทศบาลนครตรัง โดยจังหวัดตรังใช้งบประมาณดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ด้วยเงินงบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันกว่า 39 ล้านบาท มีสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
ก่อนที่ต่อมาจะโอนให้เทศบาลนครตรัง ซึ่งตั้งงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 67 ล้านบาท ในปี 2560 เพื่อก่อสร้างในส่วนโครงสร้างอาคาร งานผนัง ผิวพื้น หลังคา ระบบไฟฟ้า และระบบประปา-สุขาภิบาล สิ้นสุดสัญญาก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ยังคงเป็นแค่อาคารร้างที่ใช้งานไม่ได้
คอลัมน์หมายเลข 7 ค้นหาข้อมูล พบอาคารแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ 5 ผู้บริหารเทศบาลนครตรัง เริ่มจากคนรับงานต่อจากจังหวัดมาเติมงบเพิ่ม คือ นายอภิชิต วิโนทัย ซึ่งเส้นทางในตำแหน่ง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เคยโดน คสช.ปลด ในปี 2558 ซึ่งระหว่างที่ คสช.ระงับการปฏิบัติหน้าที่ ก็มีรองนายกเทศมนตรี 2 คน มารักษาราชการแทน
ต่อมา ในปี 2561 นายอภิชิต ได้รับการคืนตำแหน่งให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม โดยดำรงตำแหน่งต่อได้ถึงปี 2562 ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ไม่ทันได้เห็นว่างบประมาณที่ทุ่มลงไปกับโครงการ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถใช้งานได้
หลังการเสียชีวิตของนายอภิชิต ซึ่งระหว่างนั้น ยังไม่มีการเปิดให้มีเลือกตั้งท้องถิ่น นายวัลลภ ช่วยบำรุง ปลัดเทศบาลนครตรัง เข้ามาปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครตรังแทน และไม่มีการแก้ปัญหาในโครงการนี้ กระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 นายสัญญา ศรีวิเชียร ได้รับเลือกตั้ง เป็นนายกเทศบาลนครมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งงบประมาณรวมกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าให้โครงการใช้ประโยชน์ได้ แบ่งเป็นการตั้งงบประมาณจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบปรับปรุง ตกแต่งอาคารฯ และงบประมาณก่อสร้างปรับปรุง ตกแต่งอาคาร โดยยังไม่ได้กำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด
ขณะที่การตรวจสอบเบื้องต้น โดย สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พบโครงการนี้มีข้อพิรุธสงสัยในการก่อสร้าง และการใช้งบประมาณ
เกือบ 6 ปี กับงบประมาณที่ใช้ไปแล้ว 107 ล้านบาท และกำลังจะเติมเพิ่มอีก 350 ล้านบาท แบบไร้ระยะเวลาชัดเจนว่าจะเสร็จเมื่อใด ทำให้ประชาชนในพื้นที่ เกิดความกังวล และตั้งคำถามการใช้ประโยชน์ที่อาจจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ
พิรุธในการก่อสร้าง การใช้งบประมาณ และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เวลานี้ยังคลำหาคำตอบไม่เจอ เช่นเดียวกับหลักประกัน ว่าหากมีการเติมงบประมาณลงไปแล้ว จะเกิดประโยชน์และสร้างความคุ้มค่าหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ดำเนินโครงการ ฝ่ายตรวจสอบ จึงจำเป็นต้องเร่งหาคำตอบและทบทวนการใช้งบประมาณให้รอบครอบเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด