เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ นาข้าว หมู่ที่ 6 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง ดร.นิพัฒน์ โพธิ์วิจิตร คณบดีคณะพาณิชยศาตร์และการจัดการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ครรชิต เชื้อขำ รองคณบดีฝ่ายบริหาร อาจารย์สรัญญา โยะหมาด ผู้ช่วยคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ดร.พิเชตวุฒิ นิลละออ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการรัฐกิจ ในฐานะคณะกรรมการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตตรัง ร่วมกิจกรรมเปิดโลกที่โคกสะบ้า เหลียวหลังแลหน้าสืบสานตำนานข้าวโคกสะบ้า จัดโดย ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง บัณฑิตอาสา อาสาสมัครชุมชน นักศึกษาอาสาตำบล จากตำบลควนปริง ตำบลนาข้าวเสีย ตำบลนาหมื่นศรี ตำบลนาโยงใต้ และสมัชชาสุขภาพจังหวัดตรัง
ดร.นิพัฒน์ กล่าวว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ พร้อมด้วยบัณฑิตอาสา และนักศึกษาในคณะฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการส่งเสริมให้นักศึกษาในคณะ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกิจกรรรมที่สร้างประโยน์ต่อชุมชน โดยโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับปณิธานของคณะฯ ในการลงพื้นที่เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชน สืบสานความเป็นอยู่ของชุมชน ให้มีความพร้อมในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ทางคณะฯ ก็พร้อมให้การสนับสนุนในทุกกิจกรรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน
นางสาวสุวิมล เกตุทอง ผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตตรัง เผยว่า กิจกรรมเปิดโลกที่โคกสะบ้า เหลียวหลังแลหน้าสืบสานตำนานข้าวโคกสะบ้า เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมย่อยของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเป็นความร่วมมือกันของบัณฑิตอาสา อาสาสมัครชุมชน และนักศึกษาอาสาตำบล ร่วมกันจัดกิจกรรม โดยกิจกรรมในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีส่วนร่วมกับชุมชนในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตข้าว พัฒนากระบวนการทำนาข้าวแบบครบวงจร และส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชน สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนและเกษตรกรที่ผลิตข้าว มีกิจกรรมเพื่อสอนให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการข่มข้าว ผูกซัง เก็บข้าวด้วยแกะ และเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำนาข้าว โดยหลังจากนี้จะมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป และทางคณะผู้จัดงาน ก็คาดหวังว่าทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเป็นประโยชน์และช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนที่แท้จริง.