หอฯตรังจี้กรมท่าอากาศยาน เร่งกำกับการก่อสร้างยกระดับสนามบินให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อรองรับการกลับมาเดินทางหลังโควิด-19
หอฯตรังจี้กรมท่าอากาศยาน เร่งกำกับการก่อสร้างตามแผนยกระดับสนามบินตรังให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อรองรับการกลับมาเดินทางหลังโควิด-19 ผอ.ท่าอากาศยานตรังยัน การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเปิดใช้ได้กลางมีนาคมนี้
นายนายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าตรัง เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า โครงการขยายต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสารหลังปัจจุบัน ท่าอากาศยานตรัง ล่าช้ามา 2 ปีแล้ว อยากให้ทางกรมท่าอากาศยาน เร่งรัดผู้รับจ้าง ให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อจะได้เปิดใช้เต็มรูปแบบ สามารถรองรับผู้โดยสารและประชาชนที่เข้าไปใช้บริการในท่าอากาศยานได้รับความสะดวกสบายปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์โควิดเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชน นักท่องเที่ยวก็จะเดินทางมากยิ่งขึ้น
ส่วนแผนงานอื่นทั้งการก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ลานจอดเครื่องบิน การขยายอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ทางทิศใต้ ก็ทราบว่าความก้าวหน้าของงานล่าช้ากว่าแผนเช่นกัน ทางกรมท่าอากาศยาน ควรเร่งรัดกำกับดูแลให้งานเสร็จตามสัญญา เพื่อให้การก่อสร้างขยายปรับปรุงท่าอากาศยานตรังเต็มรูปแบบ ทั้งการบินในประเทศและรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว การค้าการลงทุนและการคมนาคม ตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่สนามบินแห่งนี้นอกจากบริการคนตรังแล้ว ยังมีผู้โดยสารจากพัทลุง สตูล และนักท่องเที่ยวใช้บริการทุกวัน หากการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ เพราะที่ผ่านมาตรังขาดการพัฒนาไปนาน
ด้านพ.จ.อ.เมืองชล วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผยว่า การปรับปรุงขยายอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน กรมท่าอากาศยานได้ว่าจ้างบริษัท ซีวิล พี.จำกัด ดำเนินการ ระยะเวลาก่อสร้าง 300 วัน งบประมาณ 101.7 ล้านบาท สิ้นสุดเมื่อ 26 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมากรมฯต่อสัญญาให้เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้า โดยผู้รับจ้างต้องเสียค่าปรับตามสัญญาจนกว่าส่งมอบ ขณะนี้ก้าวหน้า 90 % เหลือ 10% เป็นงานเก็บรายละเอียด มีกำหนดส่งมอบ 15 มีนาคม 2564 นี้ เพื่อเปิดใช้ได้จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 300 คนเป็น 600 คนต่อชั่วโมง
ส่วนที่เหลือ 1.งานเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับ ลานจอดอากาศยาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน งบประมาณ 678 ล้านบาท สัญญางาน 700 วัน สิ้นสุด 30 มีนาคม 2564 ก้าวหน้าไป 32.25% (เมื่อ 12 ก.พ.2564) และ 2.สร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ งบประมาณ 1,070 ล้านบาท สัญญางาน 900 วัน สิ้นสุดสัญญา 13 มีนาคม 2565 งานก้าวหน้าไปเพียง 8.2% ผู้รับจ้างมีการปรับแผนการทำงานใหม่
2 โครงการนี้ล่าช้าจากคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีคำสั่งให้กรมท่าอากาศยาน หยุดก่อสร้างท่าอากาศยานตรัง เนื่องจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่แล้วเสร็จ และให้ผู้รับจ้างทั้ง 2 ราย ออกจากพื้นที่ ต่อมากรมท่าอากาศ ยานสั่งให้กลับมาทำงานต่อได้ โดยให้ขยายสัญญางานให้ และอีกส่วนจากผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19
3.ก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง จากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร งบประมาณ 1,800 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำ TOR เพื่อจัดหาผู้รับจ้าง คาดจะได้ตัวมิ.ย. 2564 นี้ ผูกพันงบปี 2564-2567
4.ซื้อที่ดิน 600 ไร่ เพื่อขยายเเขตรันเวย์ไปทางตะวันตก ข้ามเส้นทางรถไฟ บรรจุในแผนงบประมาณ 2565 วงเงิน 545 ล้านบาท
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวอีกว่า จากเดิมมีสายการบินเส้นทางดอนเมือง-ตรัง-ดอนเมือง วันละ 7-8 เที่ยวบิน พอเจอโควิดรอบใหม่ สายการบินปรับลดเที่ยวบินลง เหลือวันละ 3-4 เที่ยวบิน เชื่อว่าเมื่อสามารถคุมการระบาดได้ จะกลับมาบินเพิ่มอีกวันละ 3-4 เที่ยวบินตามเดิม
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 – 6 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้องปั้น‘ตรังเมืองกาแฟ’ วู้ดเวอร์คหันลุยธุรกิจใหม่ครบวงจร
“ตรัง”เร่งเพิ่มมูลค่า”ปูนิ่ม-ปลิงทะเลขาว” บ.ประชารัฐฯดึงม.อ.วิจัยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ลุยส่งออก
ตรังยื่น‘คมนาคม’ขอสะพาน3กม.เชื่อม‘หาดสำราญ-กันตัง’